คำนำ...
“คุณได้รับสิทธินั้น...เดี๋ยวนี้” ประโยคแสนจะคุ้นหู แต่คุณรู้หรือไม่ว่า
“สิทธิ” หมายถึงอะไร และถ้าเป็น
“สิทธิของคนพิการ” ด้วยแล้ว อาจมีคำถามว่า ใครจะได้รับสิทธิบ้าง สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้อย่างไร หรือ บริการสวัสดิการตามสิทธิจะมีอะไรบ้าง คำตอบทั้งหลายได้รวบรวมมาให้แล้วใน
“คู่มือสิทธิของคนพิการ” เล่มนี้
ปัจจุบัน รัฐบาลและสังคมไทย ได้ตระหนักในเรื่องสิทธิของคนพิการ และมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิให้แก่คนพิการทุกประเภท รวมถึงผู้ดูแลคนพิการ องค์กรคนพิการ นายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้เกิดอนุบัญญัติ (กฎหมายลูก) ต่างๆ ตามมามากมาย
นอกจากนี้ กฎหมายของประเทศไทยยังสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ต้องปฏิบัติด้วย ทำให้เกิดดกระแสแนวคิดสังคมฐานสิทธิ เพื่อให้คนพิการได้รับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นคุณธรรมต่อบุคคล
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) หวังว่า
“คู่มือสิทธิของคนพิการ” จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนพิการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและทุกๆ คนในสังคม
คนพิการ...หมายถึง... ?
คนพิการ หมายถึง “บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษ ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด”
ประเภทความพิการ... มีอะไรบ้าง... ?
๑. ความพิการทางการเห็น
๒. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
๓. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
๔. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
๕. ความพิการทางสติปัญญา
๖. ความพิการทางการเรียนรู้
๗. ความพิการออทิสติก
ทำไมต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ?
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดให้คนพิการอาจยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ ทั้งนี้ คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว
บัตรประจำตัวคนพิการ...ทำที่ไหนได้บ้าง?
กรุงเทพมหานคร ติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน ๑๒ เขต (หน่วยให้บริการร่วมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) หรือโรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลศิริราช งานสิทธิประโยชน์ สถาบันราชานุกูล โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ต่างจังหวัด ติดต่อที่ สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) อยู่ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ อบต./เทศบาล
หลักฐานที่ใช้ในการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
๑. สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตรของคนพิการ
๒. สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
๓. รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๒ รูป
๔. ใบรับรองความพิการรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ประกาศกำหนด
เว้นแต่ กรณีสภาพความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์ ไม่ต้องมีใบรับรองความพิการก็ได้
อะไร...คือ...พิการโดยประจักษ์?
พิการโดยประจักษ์ คือ สภาพความพิการที่สามารถขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ โดย
ไม่ต้องมีใบรับรองความพิการ ได้แก่ คนตาบอดไม่มีลูกตาทั้งสองข้าง ลูกตาสีขาวขุ่นไม่มีลูกตาดำทั้งสองข้าง ลูกตาฝ่อทั้งสองข้าง คนหูหนวกไม่มีรูหูทั้งสองข้าง คนพิการทางร่างกายที่แขนขาดตั้งแต่ข้อมือขึ้นไป หรือขาขาดตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไป
ดาวน์โหลด คู่มือสิทธิของคนพิการ จำนวน 52 หน้า ขนาดไฟล์ 405KB